วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทความเกี่ยวกับการบริหารสถานสู่ความเป็นเลิศ

บทความทางวิชาการ
 การเป็นผู้นำในสถานศึกษาอย่างมืออาชีพ

โดย.... ศุภวัฒน์ กลิ่นจันทน์ กศ.ม. การบริการการศึกษา
ot_999@chaiyo.com
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 และนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาต่างมีอุดมการณ ์และหลักการการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมไทยเพื่อให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และเพื่อให้คนไทยทั้งปวงได้รับโอกาสเท่าเทียมกันทางการศึกษาพัฒนาคนได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตอันเป็นเงื่อนไขไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ที่พึงประสงค์
อุดมการณ์สำคัญของการจัดการศึกษา คือ การจัดให้มีการศึกษาตลอดชีวิต และการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมเห่งการเรียนรู้ การศึกษาที่จะสร้างคูณภาพชีวิต และสังคมบูรณาการอย่างสมดุลระหว่างปัญญาธรรม คุณธรรม และวัฒนธรรม เป็นการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคนไทยทั้งปวงมุ่งสร้างพื้นฐานที่ดีในวัยเด็ก ปลูกฝังความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมตั้งแต่วัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อการทำงานที่มีคุณภาพ โดยให้สังคมทุกภาคส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน และสามารถตรวจสอบได้อย่างมั่นใจว่า การศึกษาเป็นกระบวนการของการพัฒนาชีวิต และสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สามารถพึงตนเอง และพึ่งกันเองได้ และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ)ดังนั้นในการดำเนินการการจัดการศึกษาโดยเฉพาะการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นการศึกษาขั้นต้นจึงจำเป็นที่จะต้องปูพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนอย่างมั่นคง จริงจัง ในทุก ๆ ด้านตามเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษา จึงจำเป็นต้องส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่สถานศึกษาในการจัดการศึกษา และได้บัญญัติไว้ในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฯ ให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ งบประมาณบริหารงานบุคคล และงานบริหารงานทั่วไป ไปยังคณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในเขตพื้นที่ มีอิสระมึความเข้มแข็งในการบริหารงาน เพื่อให้การบริหารเป็นไปอย่างคล่องต้ว รวดเร็ว และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน สถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติโดยรวม
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มีมาตรฐานการศึกษาของชาติ หรือหลักสูตรที่เลิศ และมีงบประมาณสนับสนุนที่มากมาย ถ้าหากโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติโดยเฉพาะครูผู้รู้ยังมีพฤติกรรมการสอนที่ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งต่าง ๆที่กล่าวมาหาได้มีความหมายใด ๆไม่
การทำงานที่ประสบผลสำเร็จของโรงเรียนปัจจัยที่สำคัญยิ่งคือ ครูมีกำลังใจในการทำงาน มีความกระตือรือร้น ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และสติปัญญาอย่างเต็มที่คือหนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ การเปลี่ยแปลงพฤติกรรมของครูให้เป็นที่คาดหวังดังกล่าว ส่วนหนึ่งคือ ผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในระดับหน่วยปฏิบัติ ที่จะให้การกระตุ้นยั่วยุ ปลุกเร้า ท้าทาย เพื่อให้ครูมีความกระตือรือร้น ทุ่มเทกับการทำงาน พร้อมสนับสนุนให้ครูมีความรู้ ความสามารถในการทำงาน การจัดกิจกรรมการการเรียนการสอนอย่างลุ่มลึก และแจ่มแจ้ง พร้อมสนับสนุนปัจจัยหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงานต่าง ๆ ให้เพียงพอก็จะทำให้ครูมีประสิทธิภาพในการจัดกืจกรรมการเรียนการสอนโดยจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง และจริงจังจะหยุดไม่ได้ ดังนั้นการดำเนินงานที่จะทำให้ โรงเรียนปราศจากความล้มเหลวควรที่จะประกอบด้วยปัจจัยของการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษาอย่างมืออาชีพดังนี้
1.การเป็นผู้นำ
ความสำเร็จหรือความล้มเหลวทั้งปวงของโรงเรียนขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้นำ ทั้งสิ้น พฤติกรรมของผู้นำ คือ ชักจูง ปลุกเร้า ให้ครูในโรงเรียนทุกคน ตลอดทั้งผู้ปกครอง และชุมชน ยอมรับคล้อยตามความฝัน หรือเป้าหมาย เพื่อให้ความฝันหรือเป้าหมายเกิดความเป็นส่วนร่วมกันของคณะครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และชุมชน มิให้เป็นของคน ๆ เดียวเมื่อทุกคนมีส่วนร่วม และยอมรับเป้าหมายตรงกันทุกคนส่วนร่วมในกระบวนการที่จะทำให้ฝันเป็นจริงโดยเปิดโอกาสให้ครูทุกคนมีอิสระในความคิด และร่วมสร้างสรรค์ในการพัฒนางานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีเป้าหมาย มักจะถูกครูที่อยู่รอบข้าง หรือผู้บังคับบัญชา หรือนักการเมืองที่อยู่เหนือขึ้นไป กำหนดขอบเขตให้เดินตาม ดังนั้นผู้บริหารที่จะทำโรงเรียนไปสู่ความสำเร็จ
2.ลูกค้าคือสิ่งสำคัญที่สุดบริษัทที่ประสบความสำเร็จ จะต้องยึดถือลูกค้าเป็นเป้าหมายสูงสุด ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และครู ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ร่วมวางแผน ในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน และส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐาน และควบคุมตรวจสอบคุณภาพการศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ตลอดจนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจในกิจกรรมต่าง ๆ หากทำได้อย่างที่กล่าวแล้วนั้นย่อมแสดงว่าโรงเรียนก้าวสู่ยุคปฏิรูป เป็นที่ยอมรับของลูกค้า ที่มาใช้บริการอย่างแท้จริง 3.มองเห็นเป้าหมายหรือภาพความสำเร็จตรงกันในการปฏิบัติงานใด ๆจะต้องฝึกให้ผู้มีส่วนร่วมงานรู้จักการตั้งเป้าหมาย หรือมีเป้าหมายทุก ๆ ครั้ง เมื่อมีเป้าหมายและภาพของความสำเร็จของงานจะเป็นตัวชี้วัดของการทำงานว่าสำเร็จ หรือล้มเหลว
การทำงานหากแต่ละคนมีเป้าหมาย และจุดมุ่งหมายในการทำงานคนละอย่างคนละเรื่องแล้ว การทำงานย่อมไม่มีทิศทาง และพลัง เพราะคนต่างทำตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ในการบริหารสถานศึกษาก็เช่นเดียวกัน คือทุกคนจะต้องรู้เป้าหมาย เข้าใจร่วมกัน และเห็นภาพสุดท้ายในการทำงานที่ตรงกันเพราะเมื่อทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันและตรงกันแล้วก็จะเกิดพลัง และความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานให้ได้ผลตามเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ และในการตั้งเป้าหมายนั้น จะต้องตั้งเป้าหมายที่คนได้ยินได้ฟังเกิดพลัง มีความทะเยอทะยาน ท้าทาย และมีความเป็นไปได้
พึงตระหนักว่า โรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จจะต้องอาศัยพื้นฐานของวิสัยทัศน์ หรือความคาดหวังของผู้มีส่วนร่วมได้เสีย(Stakeholders ) ร่วมกันสร้างเป้าหมาย(Goals ) โดยมุ่งที่ตัวนักเรียนเป็นผลผลิต และร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์(Strategic plan) โดยอาศัยข้อมูลอย่างจริงจังพัฒนาวิสัยทัศน์ และเป้าหมายที่พึงประสงค์

ในสถานศึกษา การกำหนดเป้าหมายจะต้องมุ่งไปที่นักเรียนซึ่งเป็นลูกค้า ว่านักเรียนจะต้องได้รับอะไรบ้างโดยมีหลักสูตรเป็นกรอบในการกำหนดเป้าหมาย และมาตรฐานคุณภาพการศึกษา ซึ่งผู้มีส่วนได้ด้ร่วมกันกำหนดพร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ ที่จะก้าวไปถึงเป้าหมาย เพื่อให้ทุกคนมองเห็นภาพสุดท้ายที่ตรงกัน4.การสร้างองค์กร (ดำเนินการให้ทุกคนเชื่อมั่นในเป้าหมาย)การสร้างองค์กรให้มีความเชื่อมั่นในเป้าหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร จะต้องแสดงหรือตอกยำและกล่าวถึงเป้าหมายให้ทุกคนเกิดความเชื่อมั่น เพื่อจะให้ทุกคนในองค์กรจะได้ ช่วยกันทุ่มเทการทำงานให้ได้ตามเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา และฝังอยู่ในจิตใจของทุกคน เสมือนกับการตอกหัวตะปูยำแล้ว้อีกเพื่อจะให้ตะปูเจาะเนื้อไม้ที่แข็งแกร่งเพื่อให้ทุกคนเห็นจุดยืนหรือทิศทางของโรงเรียนอย่างชัดเจนไม่ว่าจะมีอุปสรรค์ หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆก็ตามก็พร้อมที่จะช่วยกันฟันฝ่าไปสู่เป้าหมาย 5.ความคิดสร้างสรรค์มีนักจิตวิทยากล่าวไว้ว่า"คนไทยส่วนใหญ่ชินต่อระบบการชี้นำจึงไม่อยากคิดเอง และไม่พร้อมที่จะคิดหาวิธีการทำงานของตนเองถ้าหากมีคนชี้นำดีก็พอนำไปได้ถ้าหากขาดผู้ชี้นำที่ดีก็จะทำงานไม่ได้หรือไม่อยากจะทำงานต่อไป และผู้บังคับบัญชาก็ไม่ได้ใจลูกน้องเนื่องจากเราชินต่อระบบเผด็จการ และการที่ลูกน้องไม่กล้าแสดงความสามารถ จึงทำให้ผู้บังคับบัญชาชินต่อการสั่งการเลยไม่ค่อยเข้าใจลูกน้อง" หน่วยงาน หรือสถานศึกษาที่ประสบผลสำเร็จถึอความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจของบริษัท ซึ่งต้องคอย กระตุ้น ยั่วยุ ท้าทาย และให้การสนับสนุนบุคลากรในหน่วยงาน เกิดความคิดสร้างสรรค์ และคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ แปลก ๆ อยู่ตลอดเวลา
การที่จะให้เกิดกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ จะต้องเริ่มจากการ ตั้งเป้าหมายที่ฝังแน่นในหัวใจ และต่อมาก็จะเกิดความตั้งใจปรารถนาจะไปให้ถึงเป้าหมายมีความตั้งใจอย่างแรงกล้า จึงจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการคิดค้นในวิธีการหรือวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ดังนั้นการปฏิบัติงานในสถานศึกษาผู้บริหารควรเปิดโอกาสให้อิสระในการทำงานพร้อมกับสนับสนุนและให้กำลังใจในการทำงาน โรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จหรือโรงเรียนดีเด่นต่าง ๆจะมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ แปลก ๆอยู่เสมอในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียน
6.การทำงานเป็นทีม
ในโลกอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ การบริหารงานแบบข้าเก่งคนเดียว ย่อมสิ้นสุดลงแล้วเมื่อย่างเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ การบริหารงานที่จะอยู่รอดได้ คือ การทำงานเป็นทีม และต้องเป็นทีมที่เต็มไปด้วยพละกำลัง และความกระตือรือร้น เพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมาย ดังเช่นอาชีพหมอ จะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และและความคิดเห็นกันอยู่
 ไซเซอร์(sizer) กล่าวถึงโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะต้องเป็นโรงเรียนที่มีลักษณะของความเป็นกัลยาณมิตรร่วมวิชาชีพ (Collegiality ) คือ
1)บุคลากรในโรงเรียนพูดคุยกันถึงเรื่องการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและเป็นรูปธรรม
2) บุคลากรในโรงเรียนสังเกตการทำงานของกันและกันทั้งในเรื่องของการเรียนการสอน และการบริหารโรงเรียนแล้วนำสิ่งที่ได้จากการสังเกตมาพิจารณาทบทวน และพูดคุยกันเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้น
3) บุคลากรในโรงเรียนร่วมพัฒนาหลักสูตรโดยการวางแผนออกแบบทำวิจัยศึกษา และวัดผล ประเมินผลหลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียน
4) บุคลากรในโรงเรียนแนะนำการสอน และพัฒนาซึ่งกันและกันในเทคนิควิธีการทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และภาวะผู้นำที่แต่ละคนถนัด
7 เปิดโอกาสให้คนอื่นพูดการฟังคือความสามารถที่จะช่วยให้เรารู้ถึงความต้องการ และวัตถุประสงค์ของลูกค้า ผู้ซื้อ และผู้ร่วมงาน ดังนั้นการฟังของผู้บริหารจึงเป็นเครื่องชี้อย่างหนึ่งที่บอกว่าสำนักงานใด หรือโรงเรียนใดล้มเหลว หรือประสบความสำเร็จ ดังปราชญ์ผู้รู้กล่าวว่า"พระเจ้าประทานให้เรามีสองหูหนึ่งปาก" ดังนั้นการฟังจึงมีความสำคัญต่อหน่วยงาน 8.ความเรียบง่ายของผู้บริหารกรอบความคิดเป็นตัวกำหนดในการแสดงพฤติกรรมที่เป็นมิตรหรือศัตรู ถ้าผู้บริหารมีกรอบความคิดว่าทุกคนคือเพื่อนร่วมงานการปฏิบัติตนของผู้บริหารจะแสดงออกด้วยความเป็นมิตร ทั้งภาษา ท่าทาง มีการยกย่องให้เกียรติ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความเป็นศัตรูจะไม่เกิดขึ้น9.คำชมเชยในชีวิตการทำงานจริง ๆเราต้องทำงานร่วมกับหมู่คณะ บางครั้งเราต้องการความร่วมมือ บางครั้งเราต้องการให้เขาทำงานตามสิ่งที่เราบอก บางครั้งเราต้องการให้เขากระตือรือร้นสนใจในการทำงาน และอื่น ๆ อีกมากมาย ตามแต่ใจปรารถนา แต่สิ่งหนึ่งที่เรามักลืมนึกถึงในการทำงานร่วมกันคือ คนเราทุกคนต้องการคำชมเชย ยกย่อง และไม่มีใครต้องการคำตำหนิ ดูถูก หรือเหยียดหยาม (แต่คำยกย่องชมเชย ต้องมาจากความจริงใจ)่ และเมื่อทุกคนต้องการสิ่งเหล่านี้ทำไมผู้บริหารให้เขาไม่ได้


10.การท้าทาย
1) ควรให้การท้าทายในขอบเขตเรื่องที่เขาเคยทำสำเร็จมาแล้ว
2) แน่ใจว่าเพื่อนร่วมงานมีความสนใจในเรื่องท้าทายนั้น ๆไม่ใช่เรื่องที่เขาคิดว่า เขาควรจะลองจะเลือก ในสิ่งที่เขาอยากลอง
3) ในเรื่องการท้าทายนั้น ๆจะต้องยากนิดหน่อย เพื่อให้เป็นเรื่องท้าทายจริง ๆแต่ไม่ใช่ยากจนเกินไปจนเขาไม่กล้าลอง
11. ให้ความรู้และเครื่องมือในการทำงานคนเราเมื่อมีความรัก ความอยาก ความชอบ หรือที่เรียกว่า ฉันทะ ที่จะทำงานแล้ว ต่อมาก็จะเกิด วิริยะ คือความเพียร มี จิตตะ คือจิตใจจดจ่อต่อการทำงาน และ มี วิมังสะ คือความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของศาสตร์ นั้น ๆอย่างลุ่มลึก และถ่องแท้ รู้จักปรับปรุงใคร่ครวญ พัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นจึงเป็นเรื่องที่จะขาดไม่ได้ ดังนั้นในการจะพัฒนาให้ครูเป็นผู้มีความรู้ความสามารถถึงขั้นครูมืออาชีพในการจัดการเรียนการสอน
ดังนั้นบทสรุปสำหรับผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพควรที่จะดำเนินการดังนี้ 1) รวบรวมและจัดระบบของข้อมูลสารสนเทศให้เป็นปัจจุบัน การบริหารแนวใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหาร และตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลมากกว่าสามัญสำนึก
2) วางแผนและดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ การวางแผนมีส่วนช่วยให้ผู้บริหารมีทิศทางในการบริหารตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา และนโยบายการบริหาร
3) ศึกษากฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคล ผู้บริหารมีอำนาจในการบริหารอย่างอสระ ขณะเดียวกันก็รับผิดชอบต่อผลของการตัดสินใจของตนอย่างเต็มที่เช่นกัน
4) การบริหารและการตัดสินใจโดยองค์คณะบุคคล การศึกษาเป็นบริการกิจการสาธารณะ ที่มีผู้เกี่ยวข้อง และได้รับผลจากการบริการจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้การบริหาร และการตัดสินใจมีความถูกต้องและก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการมากที่สุด ผู้บริหารควรดำเนินการโดยองค์คณะบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
5) จัดระบบบัญชีให้ครบถ้วนถูกต้อง แม้ผู้บริหารจะมีอำนาจอิสระในการบริหาร และการตัดสินใจก็ตาม แต่อำนาจมีอิสระนั้นมิใช่เป็นไปโดยปราศจากการควบคุมตรวจสอบของทางราชการ โดยเฉพาะด้านการเงินซึ่งส่วนใหญ่มาจากงบประมาณ แผ่นดิน
เงื่อนไขทั้งหมดดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้เป็นผู้นำจะต้องมี หรือจัดให้มีขึ้นเพื่อให้การบริหาร และการตัดสินใจของตนมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลตามเจตนารมณ์ สมกับคำพูดที่ว่า "เป็นผู้นำในสถานศึกษาอย่างมืออาชีพ"
เรียบเรียงโดย นางเพชรฤทัย  อกนิษฐ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น