วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทความเกี่ยวกับการบริหารสถานสู่ความเป็นเลิศ

บทความ
การบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking”
ดร.พจน์  พจนพาณิชย์กุล
  
“Benchmarking” เป็นเครื่องมือทางการบริหารจัดการ เพื่อนำองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ    ในการดำเนินงาน (Best Practice) โดยการนำองค์ความรู้ทางการบริหารจัดการองค์กรของตน และผลสำเร็จจากการดำเนินงานของกิจการหรือองค์กรของตนไปเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นหรือกิจการอื่น เพื่อศึกษาข้อมูลและกลยุทธ์ในการบริหารงาน ทั้งนี้เพื่อให้ได้แนวคิดและข้อเสนอแนะ ในการกำหนดทิศทางในการปรับปรุงงาน และการบริหารงานให้บรรลุผลดียิ่งขึ้น เป็นการบริหารงานโดยการศึกษาจากความสำเร็จของผู้อื่น ตามปกติแนวคิดการบริหารงานแบบ Benchmarking ถูกนำมาใช้ในองค์กรธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยมีชื่อเรียกว่าการเปรียบเทียบสู่ความเป็นเลิศการเปรียบเทียบตามวิธีการของ Benchmarking สามารถทำได้หลายระดับ เช่น เปรียบเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน เปรียบเทียบกับหน่วยงานในองค์กรเดียวกัน เปรียบเทียบกับหน่วยงานที่มีลักษณะการทำงานเหมือนกัน เปรียบเทียบกับกระบวนการผลิตของบริษัทอื่น หรืออาจเปรียบเทียบกับนโยบายของบริษัทอื่นเป็นต้น สำหรับกรณีของการบริหารจัดการสถานศึกษาแล้ว การนำแนวคิด Benchmarking มาใช้ในการบริหารสถานศึกษา จะช่วยให้เกิดการพัฒนา (Development) และการเปลี่ยนแปลง (Change) ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษา รวมทั้งบุคลากรทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติการในสถานศึกษานั้น ๆ ในการนี้จำเป็นต้องเริ่มต้นจากกระบวนการเปรียบเทียบ (Benchmark) กับผู้ที่ดีกว่าหรือดีที่สุดเป็นอันดับแรก ซึ่งวงการบริหารทั่วไปต่างยอมรับกันว่า Benchmark[1][1] เป็นขั้นตอนมาตรฐานสากลที่ทำได้โดยง่าย วงการศึกษาก็เช่นเดียวกัน สถานศึกษาเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษา และเพื่อให้การพัฒนางานเข้าสู่มาตรฐานทั้ง ๓ ด้าน คือ มาตรฐานด้านการบริหารโรงเรียน มาตรฐานด้านการเรียนการสอน และมาตรฐานด้านคุณภาพนักเรียน ได้อย่างมีคุณภาพ ผู้บริหารโรงเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง จึงควรแสวงหาเทคนิค
และวิธีการมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น และBenchmark คือ วิธีการหนึ่งที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารสถานศึกษาเพื่อเข้าสู่มาตรฐานที่กำหนดได้
 ทำไมต้อง Benchmarking
หัวใจสำคัญของการทำ Benchmarking อยู่ตรงที่ทำให้องค์กรมีวิธีการปรับปรุงที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม เพราะใช้องค์กรที่เหนือกว่าเป็นตัวตั้งและนำมาเปรียบเทียบหรือเทียบเคียง ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่มิใช่การลอกเลียนแบบ เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เรารู้ว่าองค์กรของเราอยู่ห่างชั้นกับองค์กรนั้นๆ แค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามต้องการ ซึ่งแนวทางที่ได้มาจากการรวบรวมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ถึงรูปแบบการดำเนินงาน กระบวนการ และวิธีที่องค์กรแม่แบบใช้แล้วประสบความสำเร็จ จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับองค์กรของตนเพื่อให้เข้าใจถึงข้อแตกต่าง และแนวทางปฏิบัติ เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กร ด้วยวิธีการของ Benchmarking จะช่วยให้องค์กรได้แนวทางปฏิบัติ โดยลดความผิดพลาดอันอาจเนื่องมากจากการดำเนินงาน หรือการคาดการณ์ผิด ทั้งนี้เนื่องจากองค์กรแม่แบบ สามารถดำเนินงานจนบรรลุผลสำเร็จมาแล้ว และยังเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรในการบริหารจัดการได้อีกทางหนึ่งด้วยโดยเฉพาะวงการศึกษาที่มีสถานศึกษาหลายแห่งประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการตามเกณฑ์มาตรฐานจนได้รับรางวัลมาแล้ว ดังนั้นการนำ Benchmarking มาใช้ในการบริหารสถานศึกษาถือว่า มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง
 รูปแบบของการทำ Benchmarking ในสถานศึกษา
. การเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน (Competitive Benchmarking) เป็นการทำ Benchmarking ที่ทำการศึกษากระบวนการทำงาน หน้าที่ และกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการดำเนินงานและข้อมูลในมติต่าง ๆ ระหว่างสถานศึกษาของตนกับสถานศึกษาอื่น (คู่แข่งขัน) ที่มีศักยภาพโดยตรงเพื่อที่ผู้บริหารจะได้เห็นจุดอ่อนของตน ความแตกต่างในความสามารถและศักยภาพ ตลอดจนวิธีการดำเนินงาน      เพื่อที่จะสามารถพัฒนาสถานศึกษาของตนเองให้เท่าเทียมหรือเหนือกว่าสถาบันการศึกษาต้นแบบที่ดีที่สุดได้
. การเปรียบเทียบภายในองค์กร (Internal Benchmarking) โดยการทำ Benchmark เปรียบเทียบกันระหว่างหน่วยงานหรือกระบวนการต่างๆ ภายในสถาบันการศึกษา เพื่อทำการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาเพื่อให้เป็นต้นแบบ (Prototype) ในการพัฒนาการ และเพื่อการเปรียบเทียบในรูปแบบอื่นต่อไป
การเปรียบเทียบตามหน้าที่ (Functional Benchmarking) เป็นการเปรียบเทียบการดำเนินงานในแต่ละหน้าที่ (Function) ที่เราสนใจ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของความเป็นสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานขององค์กร เป็นการปฏิบัติทั่วทั้งองค์การ เนื่องจากการ Benchmark ตามหน้าที่จะช่วยลดความยุ่งยากในการหาคู่เปรียบเทียบ (Benchmarking Partner) ซึ่งเราสามารถคัดเลือกคู่เปรียบเทียบได้จากองค์กร หรือหน่วยงานที่มิใช่เพียงสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่จะทำการเปรียบเทียบจากหน้าที่การปฏิบัติงาน โดยการเลือกองค์กรที่มีการปฏิบัติงานดีที่สุด (Best Practice) มาเป็นแม่แบบในแต่ละหน้าที่ ก่อนกระจายหรือขยายผลไปยังส่วนอื่นขององค์กร
การเปรียบเทียบทั่วไป (Generic Benchmarking) เป็นการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเฉพาะ (Specific Benchmarking) เป็นการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเฉพาะ (Specific Process) ที่ใช้กันอย่างทั่วไปในการจัดการศึกษาและสถาบันการศึกษา โดยกระบวนการต่าง ๆ อาจมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหลายหน้าที่ การ Benchmark ทั่วไปจะเป็นประโยชน์ในการบริหารและพัฒนากระบวนการต่างของสถาบันการศึกษาให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
 ข้อจำกัดของการทำ Benchmarking
. ผู้บริหารสถานศึกษาไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของตนเอง ทำให้ไม่สามารถกำหนดออกมาได้ว่าจะเปรียบเทียบกับอะไร หรือแก้ปัญหาด้านใด ดังนั้นผู้บริหารและบุคลากรภายในสถานศึกษาที่จะทำการ Benchmarking ต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาของตนเป็นอย่างดี เพื่อจะได้ทราบว่าตนมีจุดเด่น หรือจุดด้อยอย่างไร มีความต้องการที่จะแก้ปัญหาด้านใด
. สถาบันการศึกษาที่จะเลือกเป็นแม่แบบในการทำ Benchmarking นั้นควรเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จอยู่ในระดับหนึ่ง เพื่อจะได้นำจุดเด่นดังกล่าวมาปรับปรุงในส่วนของสถาบันการศึกษาที่จะทำการปรับปรุง
. ข้อมูลที่ต้องการจะทราบจากสถาบันการศึกษาที่เราต้องการศึกษาอาจหามาได้หลายวิธีการ แต่วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ข้อมูลที่ได้จากภายในสถาบันการศึกษาแม่แบบนั้น ซึ่งตามปกติสถาบันการศึกษาแม่แบบ มักเป็นสถาบันที่ได้รับรางวัลและมีความต้องการเผยแผ่ข้อมูลของตนอยู่แล้ว
. ไม่เข้าใจการทำ Benchmarking อย่างแท้จริง ผู้บริหารบางคนคิดว่าเป็นการลอกกระบวนการ วิธีการของแม่แบบมาใช้ โดยขาดการวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับสถาบันการศึกษาของตน (ซึ่ง Benchmarking เป็นเครื่องมือบริหารสำหรับองค์กรที่ต้องการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นความสำคัญของ Benchmarking อยู่ตรงที่ทำให้องค์กรมีแนวทางที่จะเดินไปถึงเป้าหมายอย่างชัดเจน เพราะใช้องค์กรของต้นแบบเป็นตัวเปรียบเทียบ จากนั้นนำมาวิเคราะห์และปรับปรุงให้เหมาะสมกับองค์กรก่อนนำไปใช้)
 หน้าที่ของผู้บริหารในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking”
            . หน้าที่ด้านการวางแผน (Planning) หน้าที่ด้านการวางแผนเป็นหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเป้าหมาย (Goals) วัตถุประสงค์ (Objective) กลยุทธ์ (Strategies) และแผนงาน (Plan) เป็นการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ต่าง ๆ และจัดทำแผนงานเพื่อประสานกิจกรรมต่างๆ ที่จะกระทำในอนาคต เป็นการเตรียมการเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ลดวามเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ดังนั้นในการทำหน้าที่ด้านการวางแผนของผู้บริหารในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” ต้องมีการเทียบเคียงกับสถานศึกษาในระดับเดียวกันกับสถานศึกษาของตนเพื่อศึกษารูปแบบ และเทคนิควิธีการในการวางแผน อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการสถานศึกษาของตน อาทิเช่น การกำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรในสถานศึกษา โดยยึดสถานศึกษาต้นแบบเป็นหลัก และทำการกำหนดเป้าหมายสถานศึกษาของตนให้อยู่ในระดับเดียวกันหรือระดับที่ใกล้เคียง เป็นต้น
. หน้าที่ด้านการจัดองค์กร (Organizing) เป็นการพิจารณาถึงงานที่จะต้องกระทำ ใครเป็นผู้ทำงานนั้นต้องมีการจัดกลุ่มงานอย่างไร ใครต้องรายงานใคร และใครเป็นผู้ตัดสินใจ นั่นคือการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ และกำหนดสายการบังคับบัญชา
ดังนั้นในการทำหน้าที่ด้านการจัดองค์กรของผู้บริหารในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” ต้องมีการเทียบเคียงกับสถานศึกษาในระดับเดียวกันกับสถานศึกษาของตน อีกทั้งควรมีการเทียบเคียงภายในสถาบันการศึกษาเอง เพื่อให้บุคลากรเกิดความรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาการจัดสายการบังคับบัญชา ควรมีความยืดหยุ่นพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ควรมีการศึกษาด้านการจัดโครงสร้างองค์กรของสถาบันการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ เพื่อนำมาปรับปรุงโครงสร้างการบริหารองค์กรภายในสถาบันการศึกษาของตน
. หน้าที่ในการชักนำ (Leading) เป็นการนำและจูงใจผู้ใต้บังคับบัญชา การสั่งการ การเลือกช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และการขจัดความขัดแย้ง หรือเป็นการกระตุ้นให้พนักงานใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น
ในการทำหน้าที่ด้านการชักนำของผู้บริหารในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” นั้น ควรใช้รูปแบบการเปรียบเทียบทั่วไป (Generic Benchmarking) เป็นการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเฉพาะ (Specific Benchmarking) หน้าที่ด้านการชักนำเป็นหน้าที่ทางการบริหารที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์ และศิลป์ในการปฏิบัติ ผู้บริหารควรทำการศึกษาทักษะและวิธีการจากประสบการณ์และความสำเร็จของผู้บริหารสถานศึกษาที่นำมาเป็นแม่แบบ และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับตนเอง ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมต่อสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ อีกด้วย
. หน้าที่ในการควบคุม (Controlling) เป็นการตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กระทำไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานได้เป็นไปตามมาตรฐาน หรือแผนที่วางไว้ รวมทั้งแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องอีกด้วย การควบคุมจะนำมาซึ่งความมีมาตรฐาน และความสำเร็จของการปฏิบัติงาน และด้วยวิธีการที่หลากหลายของการควบคุมตามหลักของการบริหารจัดการหนึ่งในนั้นคือ การควบคุมด้วยการเปรียบเทียบ (Comparisons) เป็นการเปรียบเทียบจากมาตรฐาน หรือคู่แข่ง
ดังนั้นในการทำหน้าที่ด้านการควบคุมของผู้บริหารในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” จึงมิใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นแนวปฏิบัติที่ผู้บริหารมีหน้าที่ที่ต้องกระทำ แต่การควบคุมด้วยการเทียบเคียงตามหลักการของ Benchmarking จะเป็นการควบคุมในระดับองค์กร หรือระดับสถานศึกษาเป็นหลัก ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการควบคุมในระดับภายในองค์กรหรือการควบคุมระดับปฏิบัติงาน ผู้บริหารสถานศึกษาต้องการเทียบเคียงสถานศึกษาของตนกับสถานศึกษาที่นำมาเป็นแม่แบบ และทำการศึกษาแนวทางที่สถานศึกษาแม่แบบดำเนินงานจนสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษาตามระเบียบข้อบังคับ และนำมาปรับใช้กับสถานศึกษาของตน ทั้งนี้การควบคุมด้วยการเทียบเคียงควรอยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกัน ยกเว้นจะเป็นการเทียบเคียงเพื่อยกระดับมาตรฐานของตน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเทียบเคียงกับกับสถานบันการศึกษาที่มีมาตรฐานที่สูงกว่า โดยมาตรฐานหลักมี ๓ ด้าน คือ มาตรฐานด้านการบริหารโรงเรียน มาตรฐานด้านการเรียนการสอน และมาตรฐานด้านคุณภาพนักเรียน

โดยสรุป  ผู้บริหารเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่และพัฒนาการของสถานศึกษา สถานศึกษาจะเข้าสู่มาตรฐานทั้ง ๓ ด้าน (มาตรฐานด้านการบริหารโรงเรียน มาตรฐานด้านการเรียนการสอน และมาตรฐานด้านคุณภาพนักเรียน) หรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ และการตัดสินใจของผู้บริหารสถานศึกษาโดยตรง ซึ่งในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” นั้น นอกจากหน้าที่ทางการบริหารที่ผู้บริหารต้องปฏิบัติแล้ว ผู้บริหารควรมีบทบาทสำคัญ คือ การเป็นผู้ริเริ่ม ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรมใหม่ของสถานศึกษา และมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการสร้างองค์การเรียนรู้โดยเฉพาะการเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนและดำเนินการของสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาต้องส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของโครงการพัฒนาสถานศึกษาอย่างเต็มความสามารถทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณ ทรัพยากร การให้ความสำคัญและกำลังใจแก่บุคลากรในสถานศึกษา และที่ขาดไม่ได้คือ การเป็นต้นแบบหรือตัวแบบเพื่อการเทียบเคียง (Benchmarking) ที่ดีให้แก่บุคลากรในสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรในสถานศึกษามองเห็นภาพที่เป็นรูปธรรม และกล้าที่จะปฏิบัติตาม อันจะนำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” ต่อไป







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น