วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทความเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ

บทความทางวิชาการ
ผู้บริหารสถานศึกษากับการบริหาร แบบมีส่วนร่วม ในยุคปฏิรูปการศึกษา
สถานศึกษาเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอม สร้างคนออกไปรับใช้สังคม ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีบทบาทเป็นผู้นำ ที่จะสามารถนำผู้อื่นให้สามารถทำงานบรรลุเป้าหมาย ของการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะเป็นสัญลักษณ์ขององค์กร จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษา ให้ประสบความสำเร็จ โดยการยึดการบริหารโดยใช้ โรงเรียนเป็นฐาน ผู้บริหารสถานศึกษาในยุคนี้ต้องมีคุณลักษณะ ในการใช้ทักษะ การบริหารแบบมีส่วนร่วม มีความรู้ในหลักการบริหาร หลักธรรมาภิบาล การสร้างทีมงาน จิตวิทยาชุมชน ความเป็นผู้นำทางวิชาการ มีความรอบรู้ มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ การจัดการศึกษา การบริหารงานใดๆ จะเกิดประสิทธิผลได้ก็ต่อเมื่อผู้บริหารมีภาวะผู้นำ กระจายความรับผิดชอบ อย่างเป็นธรรมไปสู่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยต้องใช้ภาวะผู้นำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้งานเกิดประสิทธิผล

ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นตัวจักรสำคัญในองค์กร ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ขององค์กร ในการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าการปฏิรูปการศึกษา เป็นการเปลี่ยนแปลงการศึกษาทั้งระบบเป็น Systemic Change เป็นการปรับรื้อและปรับปรุงครั้งใหญ่ อันได้แก่ การบริหาร หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน และวิชาชีพ ที่เราเรียกกันว่า ปรับ 4 องค์ประกอบใหญ่ (Components) การบริหารและจัดการศึกษาของสถานศึกษา เป็นหน้าที่ของผู้บริหารโดยตรงที่ดำรงตำแหน่ง ตามสิทธิและหน้าที่ของตำแหน่งนั้น การบริหารมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นและเห็นชัดขึ้น เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ มีสมาชิกมากขึ้น ลักษณะงานซับซ้อน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร ซับซ้อนขึ้น หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างหน่วยงาน นโยบายของรัฐ ตลอดทั้ง ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ค่านิยมในการทำงาน ซึ่งผู้บริหารต้องอาศัยหลักการและทฤษฎีต่างๆ ทางการบริหารเพื่อเป็นแนวทางในการทำ ความเข้าใจ ทำนาย ตัดสินใจ และควบคุมพฤติกรรมต่างๆ ในหน่วยงานให้เหมาะสมกับ สถานการณ์ สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของหน่วยงาน ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ เป็นปัจจัย ที่เกี่ยวข้องกับ การบริหารแบบมีส่วนร่วม ในการบริหารและจัดการศึกษาของสถานศึกษา
แนวความคิดพื้นฐานของการบริหารแบบมีส่วนร่วม นักทฤษฎีองค์การมีแนวคิดเรื่องทฤษฎีการจูงใจที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้ ทฤษฎีการจูงใจของมาสโลว์ (Maslow ' s Motivation Theory.1954. ) มีความเชื่อว่า
1. มนุษย์ทุกคนมีความต้องการเหมือนกัน ตราบใดที่ยังไม่สามารถตอบสนอง ความต้องการได้ ก็จะเกิดปัญหาความต้องการอยู่ร่ำไป แต่ถ้าความต้องการได้รับการตอบสนอง ก็จะเลิกสนใจไป
2. มนุษย์ตอบสนองความต้องการแตกต่างกัน ทางด้านปริมาณความต้องการระดับต่ำ ค่อนข้างมีขอบเขตจำกัด แต่ความต้องการระดับสูงมักจะมีขอบเขตไม่จำกัด
ทฤษฎีการจูงใจของเฮอร์เบิร์ก (Herberg 's Motivation Theory. 1959.) มีความเชื่อว่า ปัจจัยที่จูงใจให้คนทำงาน ประกอบด้วย 1. ความสำเร็จในงานที่ทำ 2. การได้รับการยอมรับ ยกย่องนับถือ 3. ความก้าวหน้าในหน้าการงานที่นำไปสู่ความสำเร็จ 4. ลักษณะของงานที่ทำ 5. ความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย6. ความเจริญเติบโตส่วนบุคคล
รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม
การบริหารแบบมีส่วนร่วม สามารถสร้างความรู้สึกที่ดีในการปฏิบัติงาน และการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานทุกระดับได้ใช้ความรู้ ความสามารถของตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อ การปฏิบัติงานและต่อองค์การได้อย่างเต็มที่ มีผู้คิดระบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม อาทิ
แบบแผนของการมีส่วนร่วมแบบเหลื่อมล้ำ (Inequity participatory pattern) มี 3 แบบ (ศิริกาญจน์ โกสุมภ์ 2542,หน้า 228)
1. แบบชายขอบ (Marginal participatory pattern) ได้แก่ ร่วมงาน ร่วมมือ สนับสนุน ร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ
2. แบบบางส่วน (Partial participatory pattern) ได้แก่ ริเริ่มงาน ร่วมงาน สนับสนุน ดำเนินงาน แสดงความคิดเห็น และมีอำนาจตัดสินใจบ้าง
3. แบบเต็มที่ (Full participatory pattern) ได้แก่ ริเริ่มงาน ดำเนินการ สนับสนุน แสดงความคิดเห็น ร่วมงานและกิจกรรมและมีอำนาจตัดสินใจเต็มที่
ขั้นตอนการบริหารแบบมีส่วนร่วม
 ขั้นที่ 1 การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ขั้นที่ 2 การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
ขั้นที่ 3 การมีส่วนร่วมรับผลประโยชน์
ขั้นที่ 4 การมีส่วนร่วมในการประเมินผล สิ่งสำคัญที่จะต้องสังเกต คือ ความเห็น (Views) ความชอบ (Preferences) และความคาดหวัง (Expectations) ซึ่งจะมีอิทธิพล สามารถแปรเปลี่ยน พฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มต่างๆ ได้
ข้อจำกัดของการบริหารแบบมีส่วนร่วม
ถึงแม้ว่าการบริหารแบบมีส่วนร่วมจะดี แต่การที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะนำการบริหาร ในรูปแบบนี้มาใช้ควรระมัดระวัง ถึงข้อจำกัดของการให้กลุ่มมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ เพราะอาจจะทำให้เกิดกลุ่มอิทธิพลได้ และก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในกลุ่ม ผู้บริหารสถานศึกษาควรคำนึงถึงผลได้ผลเสีย เช่น ค่าใช้จ่าย เวลา ปัญหา สถานการณ์ การกำหนดนโยบายและวัตถุประสงค์ขององค์กร จึงควร ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะให้กลุ่ม มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
การบริหารแบบมีส่วนร่วม นั้นนักปราชญ์ทางสังคมศาสตร์ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับชีวิตมนุษย์เฉพาะในสังคมประชาธิปไตย ในการพัฒนางาน ในองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ แม้แต่สถาบันครอบครัวก็ตาม การมีส่วนร่วมในภาพกว้างจะหมายถึงการมีส่วนร่วมระหว่างสมาชิก ด้วยกัน ระหว่างสมาชิกกับองค์กร ด้วยข้อเท็จจริงและความเชื่อที่ว่า งานจะสำเร็จได้ก็ด้วย ความร่วมมือของสมาชิก ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือ แห่งการดำรงชีวิตในสังคม หรือองค์กรเดียวกัน
สรุป
การบริหารในยุคปัจจุบัน เป็นการมุ่งเน้น การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเกิดขึ้น โดยการที่ผู้บริหาร ผู้ใต้บังคับบัญชา ชุมชน สังคม องค์กรเอกชน องค์กรภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมภาคภูมิใจ ยิ่งผู้บริหารสนับสนุนให้มี การร่วมมือกันเท่าไร ยิ่งเพิ่มพูนอำนาจและความศรัทธาแก่ผู้ใต้บังคับบัญชามากขึ้นเท่านั้น มากกว่า การที่ผู้บริหารใช้อำนาจหน้าที่ตามลำพัง เพราะว่าผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทำงาน กันเป็นทีม
ที่มาจาก http://pypss.wetpaint.com
เรียบเรียงโดย นางเพชรฤทัย  อกนิษฐ์

1 ความคิดเห็น: