วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทความเกี่ยวกับการบริหารสถานสู่ความเป็นเลิศ


บทความ เคล็ดลับสู่ความเป็นเลิศของผู้นำ
                ท่านเคยได้ยินเรื่องเล่านี้บ้างไหมครับว่า  ขณะที่เรากำลังต้มน้ำร้อนและน้ำร้อนเดือดปุด ๆอยู่บนเตาแก๊ส  ก็ได้ยินเสียงลูกเล็ก ๆ ตื่นนอน  และกำลังร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง  ในขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงมีคนมากดกริ่งอยู่ที่หน้าประตู    ถ้าเป็นท่านท่านจะตัดสินใจทำอะไรก่อนหลัง  จึงจะไม่ทำให้เกิดผลเสียหาย  หรือเกิดผลร้าย  ผู้นำที่มีประสิทธิผลอย่างแท้จริง กุญแจสำคัญก็คือการรู้จักการจัดความสำคัญลำดับก่อนหลัง  และการมีใจจดจ่อต่องานหรือสิ่งที่กำลังทำ  ซึ่งผู้นำที่รู้ลำดับความสำคัญก่อนหลัง  แต่ไม่มีใจจดจ่อก็แม้จะรู้ว่าอะไรควรทำแต่จะไม่มีวันทำจนสำเร็จได้ ในทางกลับกัน หากผู้นำคนนั้นมีใจจดจ่อแต่ขาดลำดับความสำคัญก่อนหลัง  ผู้นำผู้นั้นก็จะเก่งเฉพาะอย่างโดยไม่มีความเจริญก้าวหน้า  แต่หากผู้นำคนนั้นสามารถควบคุมได้ทั้งสองอย่าง   ผู้นำผู้นั้นก็จะมีศักยภาพที่ยอดเยี่ยมและมีผลงานเป็นเลิศ
                                ฉะนั้นคำถามสำคัญก็คือ  ผู้นำจะต้องทุ่มเทเวลาและกำลังอย่างไร  ซึ่งจากปัญหาที่เกิดที่สถานศึกษาหรือหน่วยงานหลายแห่ง  ผู้นำหลายท่านไม่ค่อยได้อยู่สถานศึกษา  เวลาสั่งการหรือแม้แต่ผู้สอนก็เช่นกัน  คือ  ชอบทิ้งห้องเรียนหรือชั้นเรียน  และบางครั้งไม่ทำหน้าที่นำหรือแนะนำ  หรือลงลึกในงาน  รวมทั้งไม่แม้แต่จะทำความเข้าใจกับนโยบาย  หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมาย  และเมื่อมอบหมายไปก็สั่งแบบไม่เข้าใจจริง  ผลก็สะท้อนกลับคืองานไม่ออก  เพราะผู้ทำก็ไม่เข้าใจ และผู้สั่งเองก็เข้าใจไม่ถูกด้วย  ก็ในที่สุดล้มเหลว  ไร้ประสิทธิภาพ  หรือขาดความคุ้มค่าในการลงทุนหรือลงแรงไปกับสิ่งเหล่านั้น  ขาดทั้งความ              พึงพอใจทั้งต่อผู้บริการและผู้รับบริการ  ดังนั้นเคล็ดลับก็คือ
                1.  ต้องทำความเข้าใจกับ  สิ่งที่ต้องทำ   สิ่งที่ควรทำ  และสิ่งที่จะทำ  และจัดลำดับให้ถูกต้อง
                2.  ผู้นำที่มีประสิทธิผล  ที่ส่งถึงศักยภาพของผู้นำนั้น  จะใช้เวลาทุ่มเทกับหน้าที่หลัก  คือการเป็นผู้บริหารหน่วยงาน  มากกว่าสิ่งที่เป็นงานรองอื่น ๆ  แต่อาจเป็นไปได้ที่จะทำสองอย่างได้ดีเป็นบางครั้ง  แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้หลาย ๆ อย่างได้ดีทุกครั้ง  ฉะนั้นต้องมุ่งในงานหลัก  คือ  การอยู่กับคนที่เราจะนำ  และลงสู่งานหลักคือการเป็นผู้บริหาร  ถ้าเป็นผู้บริหารสถานศึกษาและการเป็นผู้สอนในฐานะผู้นำการสอนในชั้นเรียน  ดังนั้นถ้าจะให้ประสบความสำเร็จ  ผู้นำต้องทุ่มเทให้กับสิ่งที่เป็นงานหลักถ้าเลือกที่จะเป็นผู้บริหาร  ก็ต้องทุ่มเทให้กับการบริหารและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก  ทั้งเวลา  แรงกาย  และแรงเงิน
                3.  ผู้นำที่จะให้เกิดการเติบโตก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง  หากต้องการความก้าวหน้า  ผู้นำผู้นั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  นั่นก็คือการก้าวไปสู่สิ่งใหม่  หากเราพัฒนาตนเองให้กับสิ่งใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับงานในหน้าที่หลัก  เราจะเติบโตขึ้นได้ในฐานะผู้นำ  (ถ้าเป็นผู้บริหารก็คือนักบริหารมืออาชีพ  และถ้าเป็นผู้สอนก็คือผู้นำในการสอน)
                4.  ไม่มีใครหนีจุดอ่อนหรือจุดบกพร่องของตนเองได้  วิธีแก้ไขก็คือปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนที่ยังมี  และในบางครั้งหากพบว่าอะไรที่ตนไม่ถนัดจริง ๆ  ผู้นำก็สามารถใช้คนอื่นโดยการมอบหมายงาน  แต่เราต้องรู้จักงานจริง ๆ  จึงจะควบคุมและจัดการให้มุ่งสู่จุดหมายได้ดีที่สุด  แม้จะใช้คนอื่นไปทำแทนก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น